ภารกิจของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มจร

ภารกิจของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มจร

โดย พระเมธีธรรมาจารย์ (เจ้าคุณประสาร)
รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา
กรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฝ่ายมหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาพระเดชพระคุณพระเทพปวรเมธี รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ในฐานะประกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เรียกประชุมสมาชิกทั้งหมดในระบบออนไลน์เป็นการประชุมใหญ่สามัญประจำปีตามข้อบังคับของกองทุนฯ

ผู้เขียนก็ได้เข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการกองทุนฝ่ายมหาวิทยาลัยที่ได้รับแต่งตั้งติดต่อกันมาหลายสมัยแล้ว

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐและเป็นนิติบุคคล ปัจจุบันมีบุคลากรในสังกัดจำนวน 1,240 รูป/คน มีนิสิตกว่า 25,000 รูป/คนมีวิทยาเขต 11 แห่ง วิทยาลัยสงฆ์ 25 แห่ง สถาบันสมทบในต่างประเทศ 5 แห่ง ในประเทศ 1 แห่ง

มหาวิทยาลัยได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐส่วนหนึ่งและเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัยอีกส่วนหนึ่งในการบริหารกิจการของมหาวิทยาลัยตามพันธกิจหลัก คือ ผลิตบัณฑิต วิจัยและพัฒนา ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม

ในส่วนของการบริหารงบประมาณ การคลังและสวัสดิการของบุคลากรนั้นมหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในการจัดอันดับการบริหารมหาวิทยาลัยในประเทศไทยล่าสุดนั้นมหาวิทยาลัยได้อันดับที่ 6 ในการบริการที่มีระบบธรรมาภิบาล

ในระบบสวัสดิการของผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่นั้น (นิสิตแยกออกต่างหาก)มหาวิทยาลัยได้ประยุกต์มาจากหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา คือ หลักทิฏฐธัมมิกัตถ คือประโยชน์ 4 อย่าง หรือหัวใจเศรษฐี คือ อุ อา กะ สะ ประกอบด้วย

  1. อุฏฐานสัมปทา มีความขยันหมั่นเพียรในการหาทรัพย์
  2. อารักขสัมปทา รู้จักรักษาทรัพย์ ไม่ให้ทรัพย์ละลายไปในทางที่ไม่ถูกต้อง
  3. คบกัลยาณมิตร คือคบคนดี ไม่คบคนชั่ว
  4. สมชีวิตา อยู่อย่างพอเพียง ฉลาดรู้ว่า อะไรที่จะทำให้ทรัพย์เจริญงอกงาม อะไรคือทางหายนะหรือทางเสื่อมแห่งทรัพย์นั้นๆ

นอกจากนั้นพระพุทธองค์ยังคงสอนให้เราใช้สอยทรัพย์อีก 4 ส่วนคือ

  1. ใช้หนี้เก่า หมายถึงการให้ การเลี้ยงดูพ่อ แม่ ครูอาจารย์หรือผู้มีพระคุณ ตอบแทนบุญคุณที่ท่านเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเรามา
  2. ใช้หนี้ใหม่ หมายถึงให้ครอบครัว ลูก เมีย หรือผู้อยู่ในปกครองที่เราสร้างมาทีหลัง
  3. ฝังไว้ หมายถึงการทำบุญ ทำทาน แบ่งปันสร้างสาธารณประโยชน์ การช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม เพื่อนฝูงเป็นต้น
  4. ทิ้งเหว หมายถึงการใช้จ่ายตามความจำเป็น เป็นการใช้จ่าย ซื้อหา ใช้สอยตามความจำเป็นในปัจจัยสี่ คือใช้ในสิ่งที่ต้องการแต่ต้องพึงระวังอย่าใช้จ่ายตามกิเลสตัณหา ต้องมีสติ สัมปชัญญะกำกับอยู่ตลอดเวลา

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อาศัยหลักธรรมนี้ได้วางแผนให้บุคคลากรของมหาวิทยาลัย ได้หาทรัพย์ ใช้จ่ายทรัพย์และรักษาทรัพย์ให้ถูกตามหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา คือ

  1. หาทรัพย์ ต้องทำงาน มีความขยัน ซื่อสัตย์ จึงจะได้รับค่าตอบแทน เงินเดือน นิตยภัตและหรือการจะได้รับโบนัสขึ้นเงินเดือนในแต่ละปีด้วย
  2. ใช้จ่ายทรัพย์ วางแผนให้บุคลากรใช้เงินอย่างประหยัด ถูกทางไม่ฟุ่มเฟือยและไม่เกินตัว
  3. รักษาทรัพย์
    3.1 ทรัพย์ที่ได้จากค่าตอบแทน เงินเดือน นิตยภัตโบนัสหรืออื่นๆ
    3.2 ทรัพย์ส่วนบุคคลที่หลายท่านนำเอาไปฝากไว้กับธนาคาร สถาบันการเงิน สกรณ์ออมทรัพย์ ช.พ.ค. (การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา)และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น

การหาทรัพย์ ใช้จ่ายและรักษาทรัพย์นี้ถ้าดูให้ดี การวางแผนให้ถูกจะประกอบด้วย

  1. เงินปัจจุบัน
  2. เงินใช้จ่ายระยะกลาง
  3. เงินในอนาคต

คนที่รู้จักหลักการสำคัญ 3 ประการนี้จะไม่เดือดร้อน จะไม่ชักหน้าไม่ถึงหลัง ไม่วิ่งหากู้ยืม และจะไม่เดือดร้อน เหตุก็เพราะเขารู้จักแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วนดังกล่าวมาอย่างเป็นระบบ เราจะต้องมีความฉลาดในการครอบครองเงิน ครองทรัพย์และการใช้จ่ายเราจะได้ไม่เดือดร้อนทั้งในปัจจุบันและอนาคต

สำหรับเงินปัจจุบัน เมื่อมีรายได้เข้ามาต้องแบ่งเป็น ใช้หนี้เก่า ใช้หนี้ใหม่ ฝังไว้และทิ้งเหว ตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้และต้องบริหารให้ดี มีประสิทธิภาพ

เงินใช้จ่ายระยะกลาง จะต้องรู้ภาระตน ภาระรับผิดชอบ และภาระสังคมว่าในแต่ละอาทิตย์ แต่ละเดือน แต่ละไตรมาสและในแต่ละปีเรามีภาระหน้าที่ในทางการเงินมากน้อยแค่ใหน อย่างไร เราจะแบ่งปันไว้ประมาณเท่าไรจึงจะเหมาะสมกับคำว่า “พอเพียง” หรือ “เพียงพอ”สำหรับตัวเรา ฐานะอย่างเรา

เงินระยะยาวหรือเงินในอนาคตหมายถึงเงินที่เตรียมไว้ในวัยเกษียณ ในวัยชรา ในวันที่เราไม่มีกำลังจะทำงานเลี้ยงชีพแล้ว วันนั้นเราต้องพึ่งพาตัวเราเอง การจะหันไปพึ่งพาลูกหลานก็ไม่รู้จะได้แค่ใหน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจดทะเบียนแล้วของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก็คือการวางแผนให้บุคคลากรทุกท่านได้เก็บเงินไว้สำหรับอนาคตนั่นเอง โปรดจำไว้ว่ามหาวิทยาลัยได้วางแผนล่วงหน้าในการเก็บเงินทั้งของท่านเองและมหาวิทยาลัยได้สบทบให้อีกส่วนหนึ่งรวมกันเป็นเงินก้อนไว้เพื่ออนาคตสำหรับตัวท่านเอง ไม่ใช่เพื่อมหาวิทยาลัยหรือคนอื่นใดเลย มันคือเงินอนาคตสำหรับท่าน

นี่คือระบบสวัสดิการบุคลากรภายในของมหาวิทยาลัย นี่คือความห่วงใยในอนาคตที่มหาวิทยาลัยมีต่อท่าน ใครท่านใดไปชักเงินในอนาคตมาเป็นเงินปัจจุบัน ถือว่าท่านบริหารทรัพย์ตัวเองล้มเหลว อนาคตจะลำบาก

ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีที่ผ่านมามีสมาชิกบางท่านถามว่า

  1. กองทุนนี้กู้ยืมได้ไหม
  2. ทำไมการลาออกจากสมาชิกกองทุนแล้วอีกตั้ง 3 ปี จึงกลับมาสมัครเป็นสมาชิกได้อีก ช้ามากน่าจะสักหนึ่งปี

ถ้าท่านอ่านมาตั้งแต่ตนท่านจะเข้าใจดีว่ากองทุนนี้คือกองทุนสวัสดิการ คือเงินออมเพื่ออนาคตของท่านภายหลังการเกษียณ กองทุนถูกบังคับโดยกฎหมาย ข้อบังคับกองทุนฯและมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือเป็นกองทุนสำหรับเงินออม เงินก้อน ในวันที่ท่านเกษียณอายุการทำงาน ไม่ใช่กองทุนที่มาทำให้ท่านเป็นหนี้ ก่อหนี้และใช้หนี้ และสมมติว่าท่านเดือดร้อนหรือจำเป็นที่จะต้องกู้จริงๆมหาวิทยาลัยก็จัดให้มีสหกรณ์ออมทรัพย์ฯให้ท่านได้กู้ยืมอยู่แล้วกรณีเป็นสมาชิก แต่ถ้ามีที่ให้กู้มีที่ให้หวังมากเท่าไดก็ยิ่งพอกพูนหนี้สินให้ท่านมากขึ้นเป็นเงาตามตัว หนี้ก้อนใหญ่ก้อนโตแต่ศักยภาพในการใช้หนี้ไม่เพียงพอ เงินเดือนน้อย รายใด้ต่ำโอกาสล้มละลายสูง ลองหันมาอาศัยพึ่งพาการบริหารเงินตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาจะเป็นทางออกของชีวิตที่ดีกว่า

ประการถัดมา เมื่อลาออกจากสมาชิกกองทุนฯรับเงินไปใช้แล้ว ข้อบังคับเขียนไว้ว่า อีก 3 ปีจึงจะกลับมาสมัครเป็นสมาชิกได้ ทำไมไม่แค่ปีเดียว

เรื่องนี้สำคัญ สำคัญมาก ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนฯสามารถให้กองทุนนั้นๆยืดหยุ่นได้ตามควรแก่กรณี จึงมีหลายกองทุนเมื่อสมัครใจลาออกไปแล้วจะด้วยเหตุผลและความจำเป็นอย่างไรก็ตามสมาชิกท่านนั้นจะไม่สามารถกลับมาเป็นสมาชิกกองทุนฯได้อีกต่อไป คือออกแล้วออกเลย ในหลายกองทุนก็ให้เว้นวรรคหลายปีมาก ในส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้เว้นวรรค 3 ปีจึงจะสามารถกลับมาสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯได้อีกครั้ง

เหตุผลของกองทุนอื่นๆและรวมทั้งกองทุนฯของ มจร ที่ทำให้การออกยาก ลำบาก และการกลับเข้ามาในรอบ สองรอบสามยิ่งลำบากมากขึ้น ก็เพราะต้องการให้ท่านสมาชิกมีระเบียบวินัยในการเงินการคลัง มีความอดทน รู้จักวางแผนการเงินให้ถูกต้อง จะได้ไม่ลำบากตอนแก่ อย่าไปดึงเอาเงินในอนาคต อย่าละลายก้อนเงินในวัยเกษียณ อย่าไปเอาเงินก้อนตัวเองในยามชรามาละลายใช้ในปัจจุบัน

นอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว กองทุนฯกองทุนยังไม่ประสงค์จะให้เข้าๆออกๆแบยง่ายๆ สบายๆตามใจฉัน เพราะการเข้าง่าย ออกง่ายก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้ท่านทำผิดวัตถุประสงค์ของกองทุนฯคือเป็นแรงจูงใจในการที่จะทำให้ท่านได้นำเงินในอนาคตมาใช้ในปัจจุบันได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ดังนั้นกองทุนฯทุกกองทุนฯจึงจำเป็นต้องเคร่งครัดในเรื่องดังกล่าวนี้เป็นพิเศษ

ดังนั้น การลาออกจากกองทุนฯและการกลับเข้ามาเป็นสมาชิกของกองทุนฯในรอบที่สองที่สมาชิกบางท่านดูว่ายากนั้นก็เพราะมหาวิทยาลัยพยายามจะดูแลสมาชิก วางอนาคตและวางแผนการเงินไว้ให้ ไม่อยากให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยต้องตกระกำลำบากในวัยเกษียณอายุการทำงานนั่นเอง

วันที่ 5 กรกฎาคม 2564
แหล่งที่มา : https://www.facebook.com/ck.prasarn

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *